Alex G. Smith แสดงข้อคิดเห็นว่าอุปสรรคหนึ่งในการประกาศข่าวประเสริฐของ พระเยซูคริสต์ในประเทศไทยคือการที่คนไทยส่วนใหญ่ถึง 94 % ยึดมั่นในพุทธศาสนา ซึ่งส่งผลให้วัฒนธรรมไทยเกี่ยวพันกับพุทธศาสนาแบบที่แยกกันแทบไม่ได้ ภาษาไทยเต็มไปด้วยคำศัพท์ที่มาจากพุทธศาสนา อาทิ เมตตา กรุณา และการคิดของคนไทยก็มักมีพื้นฐานมาจากแนวคิดในพุทธศาสนาเหล่านี้จนถึงขนาดพูดกันว่าถ้าเป็นคนไทยก็ต้องนับถือศาสนาพุทธ Eunice Burden กล่าวเช่นกันว่าคติของพุทธศาสนาที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ทำให้เป็นเรื่องยากที่คนไทยจะต้องการพึ่งพาพระเจ้า
อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาว่าการบนบานศาลกล่าวและการแก้บนอยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน ทั้งๆ ที่อย่างที่กล่าวแล้วในบทที่ 2 ว่าการบนบานศาลกล่าวไม่ใช่หลักทางพุทธศาสนา และการบนบานศาลกล่าวยังอาจนับเป็นการแสดงออกซึ่งตรงข้ามกับคติของพุทธศาสนาที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” น่าจะกล่าวได้ว่าอุปสรรคหนึ่งของคริสตศาสนาในประเทศไทยอาจไม่ใช่พุทธศาสนาแต่เป็นสิ่งที่คนไทยคิดกันไปว่าเป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรถือปฏิบัติ และบางสิ่งในบรรดาสิ่งเหล่านี้อาจยังมามีผลกับคริสตชนชาวไทยบางคนอีกด้วย อย่างเช่นเรื่องที่ข้าพเจ้าเล่าถึงในบทนำ คือการปฏิบัติราวกับว่าการอธิษฐานกับพระเจ้าเป็นการบนบานศาลกล่าวและต้องแก้บนเมื่อพระเจ้าตอบคำอธิษฐาน
สิ่งที่จะเขียนต่อไปในบทนี้เป็นการเปรียบเทียบการบนบานศาลกล่าว การอธิษฐานในพุทธศาสนา และการอธิษฐานในคริสตศาสนา ในแง่ต่างๆ คือ สิ่งศักดิ์สิทธ์ที่บนบานศาลกล่าวหรืออธิษฐานด้วย วิธีและเวลาในการบนบานศาลกล่าวหรืออธิษฐาน เรื่องที่บนบานศาลกล่าวหรืออธิษฐาน โอกาสได้รับตามคำบนบานศาลกล่าวหรือคำอธิษฐาน และสิ่งที่ต้องปฏิบัติเมื่อคำบนบานศาลกล่าวหรือคำอธิษฐานสัมฤทธิ์ผล พร้อมทั้งกล่าวถึงสาเหตุต่างๆ ที่การอธิษฐานในคริสตศาสนาไม่ใช่การบนบานศาลกล่าวอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ในสังคมไทย
4.1 สิ่งศักดิ์สิทธ์ที่เกี่ยวข้อง
การบนบานศาลกล่าวนั้น จากตารางที่ 1 ในหน้า 3 จะเห็นว่าทำได้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายรูปแบบ ตั้งแต่เจ้าพ่อ เจ้าแม่ วิญญาณต่างๆ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไปจนถึงพระพุทธรูปแม้ว่ามีผู้กล่าวว่าการบนบานศาลกล่าวไม่ใช่หลักทางพุทธศาสนา ก็ตาม
การอธิษฐานในพุทธศาสนา ไม่ปรากฏชัดว่าเป็นการอธิษฐานกับสิ่งใด แต่เน้นการมีจิตใจที่แน่วแน่มั่นคงในขณะอธิษฐาน ซึ่งถือเป็นมโนกรรม คือ กรรมที่ทำสำเร็จด้วยใจคิดดี และเมื่อคิดดี คนจะพูดดีและทำดีตามไปด้วย สิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมาในชีวิต
ส่วนการอธิษฐานในคริสตศาสนาเป็นการอธิษฐานกับพระเจ้าในนามพระเยซูคริสต์ ดังที่พระเยซูตรัสไว้ว่า “ถ้าท่านจะขอสิ่งใดจากพระบิดาในนามของเรา พระองค์จะทรงประทานสิ่งนั้นให้แก่ท่าน” (ยอห์น 16: 23)
4.2 วิธี สถานที่และเวลา
การบนบานศาลกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในตารางที่ 1 หน้า 3 นั้น มีการกล่าวไว้ชัดเจนว่าต้องใช้สิ่งใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นธูป เทียน จำนวนและสีตามที่ระบุ พวงมาลัยดอกไม้ชนิดต่างๆ ผ้าแพร หรือเงินถวายค่าน้ำมันตะเกียง สถานที่น่าจะเป็นที่ๆ สิ่งศักดิ์สิทธ์เหล่านั้นประดิษฐสถานอยู่ ส่วนเวลาไม่ได้ระบุไว้ยกเว้นสำหรับพระตรีมูรติ ซึ่งเป็นในช่วง 09.30–21.30 น. สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ น่าจะเป็นเวลาซึ่งสถานที่เหล่านั้นเปิดให้คนเข้าไปสักการะได้
การอธิษฐานในพุทธศาสนา ดังที่กล่าวแล้วว่าอโณทัย เขตต์บรรพต ได้ให้แนวทางการอธิษฐานไว้คือ ตั้งใจเป็นสมาธิหรือมีสติแล้วอธิษฐานว่า “ด้วยบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงที่ข้าพเจ้าได้เคยทำมาแล้วในอดีต กำลังทำในปัจจุบัน และที่จะทำต่อไปในอนาคตขอให้เป็นพลว (อ่านว่า พะ-ละ-วะ) ปัจจัยให้ ... (ให้กล่าวเรื่องที่ต้องการขอ)” โดยไม่ได้ระบุไว้ว่าให้ทำ ณ สถานที่ใด แต่ระบุว่าทำได้เมื่อมีความจำเป็นในเวลาวิกฤตเท่านั้น
ส่วนการอธิษฐานในคริสตศาสนานั้น พระเยซูสอนว่า “คนทั้งหลายควรอธิษฐานอยู่เสมอ” (ลูกา 18: 1) และเปาโลกล่าวไว้ใน 1 ทิโมธี 2: 8 ว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาให้ผู้ชายทั้งหลายอธิษฐานในที่ทุกแห่ง” แต่พระคริสตธรรมคัมภีร์ไม่ได้ระบุถึงวิธีหนึ่งวิธีใดอย่างเฉพาะเจาะจง แต่เรื่องสำคัญคือจิตใจ ซึ่งน่าจะมีท่าทีของการวิงวอนและการขอบพระคุณ (ดูฟิลิปปี 4: 6)
4.3 เรื่องที่ขอ
การบนบานศาลกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เป็นการขออะไรก็ได้ เรื่องใดก็ได้ทั้งดีและไม่ดี และจากตารางที่ 1 ในหน้า 3 มีการกล่าวไว้ชัดเจนว่าต้องบนบานศาลกล่าวเรื่องใดกับสิ่งศักดิ์สิทธ์องค์ไหน เห็นได้ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ละองค์เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ แตกต่างกัน การอธิษฐานในพุทธศาสนา อโณทัย เขตต์บรรพต กล่าวไว้ว่าต้องเป็นการขอในเรื่องที่ดีในเวลาจำเป็นเท่านั้น ซึ่งเข้าใจได้ว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดีตามหลักพุทธศาสนา
ส่วนการอธิษฐานในคริสตศาสนานั้น เปาโลกล่าวไว้ในฟิลิปปี 4: 6 ว่า “จงทูลเรื่องความปรารถนาของท่านทุกอย่างต่อพระเจ้า” ไม่ได้จำกัดว่าเฉพาะเรื่องการเรียน การงาน ความรักเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้นเหมือนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในตารางที่ 1 หน้า 3 จะเห็นได้ว่าพระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานได้ในทุกๆ เรื่อง และในฐานะคริสเตียน เรารู้ว่าควรอธิษฐานขอในสิ่งที่สอดคล้องกับพระคริสตธรรมคัมภีร์เท่านั้น
4.4 โอกาสได้รับตามคำขอ
การบนบานศาลกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นั้น ดังที่ได้กล่าวแล้วในบทที่ 2 ว่ามีโอกาสได้ตามคำบนบานศาลกล่าวเพียง “ไม่กี่เปอร์เซ็นต์” สำหรับโอกาสที่จะได้รับตามคำอธิษฐานในพุทธศาสนา อโณทัย เขตต์บรรพต ระบุว่า “มากเนื่องจากมีบุญกุศลที่ทำมาแล้วเป็นปัจจัยเกื้อหนุน”
ส่วนการอธิษฐานในคริสตศาสนานั้น เมื่อพิจารณาจากมัธทิว 7: 8–11:
... ทุกคนที่ขอก็ได้รับ คนที่แสวงหาก็พบ และคนที่เคาะก็จะเปิดให้เขา ในพวกท่านมีใครบ้างที่จะเอาก้อนหินให้บุตร เมื่อเขาขอขนมปังหรือให้งูเมื่อบุตรขอปลา เหตุฉะนั้น ถ้าท่านทั้งหลายเองผู้เป็นคนชั่วยังรู้จักให้ของดีแก่บุตรของตน ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใดพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์จะประทานของดีแก่ผู้ที่ขอจากพระองค์
และยากอบ 4: 2–3 ที่ว่า “ที่ท่านไม่มีเพราะท่านไม่ได้ขอ ท่านขอและไม่ได้รับ เพราะท่านขอผิด หวังได้ไปเพื่อสนองราคะตัณหาของท่าน” จะเห็นว่ามีโอกาสที่จะได้รับตามคำอธิษฐาน 100 % ทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสิ่งที่ขอเป็น “ของดี” (มัธทิว 7: 11) แต่ถ้าขอ “เพื่อสนองราคะตัณหา” (ยากอบ 4: 3) ก็จะไม่ได้
4.5 สิ่งที่ต้องปฏิบัติเมื่อคำขอสัมฤทธิ์ผล
เมื่อบนบานศาลกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แล้วได้ตามคำขอต้องแก้บน จากตารางที่ 1 ในหน้า 3 มีการกล่าวไว้ชัดเจนว่าต้องแก้บนอย่างไรกับสิ่งศักดิ์สิทธ์องค์ไหน เห็นได้ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ละองค์ชอบของแก้บนต่างๆ แตกต่างกันไป สำหรับการอธิษฐานในพุทธศาสนา เมื่อได้ตามคำอธิษฐานแล้ว ไม่ต้องชดใช้ เนื่องจากถือว่าที่ได้มาเพราะบุญกุศลเดิม
ส่วนการอธิษฐานในคริสตศาสนานั้น เมื่อพระเจ้าตอบคำอธิษฐาน ไม่ต้องชดใช้เช่นกัน แต่ไม่ใช่เนื่องจากถือว่าที่ได้มาเพราะบุญกุศลเดิม เพราะจริงๆ แล้วเดิมมนุษย์เป็นคนบาปไม่มีบุญกุศล แต่เนื่องจากพระเจ้าไม่ใช่เจ้าพ่อ เจ้าแม่ซึ่งหวังสิ่งตอบแทน แต่ทรงเป็น “พระเจ้าแห่งความรัก” (2 โครินธ์ 13: 11) สิ่งที่คริสเตียนต้องถือปฏิบัติเมื่อคำอธิษฐานสัมฤทธิ์ผลจึงไม่ใช่การแก้บน แท้จริงแล้วเมื่ออธิษฐานขอสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ควรต่อรองหรือสัญญาว่าจะทำอะไรเป็นการตอบแทนเมื่อพระเจ้าตอบคำอธิษฐาน สิ่งนี้ไม่ปรากฏในคำอธิษฐานที่พระเยซูทรงสอนสาวก (ลูกา 11: 2–4) พระองค์ทรงสอนให้สาวกเพียงแต่อธิษฐานขอสิ่งต่างๆ เพื่อพระสิริและสำหรับผู้อธิษฐานเอง อย่างเช่นที่มัทธิว 7: 7 กล่าวว่า “จงขอแล้วจะได้ จงหาแล้วจะพบ จงเคาะแล้วจะเปิดให้แก่ท่าน” และสิ่งที่คริสเตียนต้องถือปฏิบัติเมื่อคำอธิษฐานสัมฤทธิ์ผลน่าจะเป็นการขอบพระคุณ ซึ่งทำได้ก่อนที่คำอธิษฐานจะสัมฤทธิ์ผลด้วยซ้ำ หากมั่นใจจว่าท่าทีในการขอถูกต้องและสิ่งที่ขอเป็นสิ่งดีที่พระเจ้าจะประทานให้อย่างแน่นอน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment