Thursday, July 23, 2009

การบนบานศาลกล่าวและการแก้บนในสังคมไทย

เสฐียรโกเศศ เล่าว่าเมื่อพ.ศ. 2494 ได้ไปเห็นศาลเทพารักษ์แห่งหนึ่งที่จังหวัดสุโขทัยมีมะพร้าวห้าวผลเล็กผลใหญ่ติดทองคำเปลวแขวนไว้ตามชายคา เมื่อถามดู ปรากฏว่าเป็นการแก้บนจากที่บนบานไว้ว่าถ้าได้ตามที่ขอ จะแก้บนเป็นทองคำเท่าลูกมะพร้าว ส่วนหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 27 สิงหาคม 2008 คอลัมภ์ “ว่าที่ผู้ว่า กทม. บน ... อะไร ที่ไหน อย่างไร” รายงานว่าผู้สมัครลงเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน นายพิจิตต รัตตกุล นายวรัญชัย โชคชนะ นายมานะ มหาสุวีระชัย รวมไปถึงนางลีนา จังจรรยา และนางปวีณา หงสกุล ต่างก็ไปสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง อาทิ วัดพระแก้วมรกต ศาลหลักเมือง และวัดชนะสงคราม โดยกล่าวว่าเพื่อให้เป็นสิริมงคลกับตัวเอง โดยเฉพาะนางปวีณา หงสกุลกล่าวว่า หากชนะการเลือกตั้ง อาจจะต้องใช้เวลาเดินสายแก้บนเป็นเดือน เพราะได้บนไว้กับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จำนวนมาก สองเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าการบนบานศาลกล่าวอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้าแล้วและน่าจะยังดำเนินต่อไปแม้กระทั่งในคนระดับผู้นำ เสฐียรโกเศศ ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าวิธีการแก้บนอาจเป็นการเลี่ยงคำสัญญาว่าจะถวายสิ่งที่ไม่อาจถวายได้ (คือทองคำเท่าลูกมะพร้าว)โดยใช้อุบาย (คือมะพร้าวห้าวติดทองคำเปลว)
ในหนังสือ “สิ่งที่ชาวพุทธควรรู้” อโณทัย เขตต์บรรพต กล่าวว่าการบนบานศาลกล่าวเป็นการขอจากพระพุทธรูป สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าพ่อ เจ้าแม่ วิญญาณต่างๆ สิ่งที่ขอมีหลากหลาย อาจเป็นสิ่งของ การงาน คนหาย ไปจนถึงโชคลาภ ความร่ำรวย และเมื่อได้สิ่งที่ขอ หรือ “บน” ไว้ ก็ต้องแก้บน ณภัค พยากรณ์ แนะนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อาจจะไปบนศาลศาลกล่าวได้ไว้ในเวบไซต์หนึ่ง โดยระบุไว้ด้วยว่าเรื่องที่ควร “บน” กับแต่ละที่คืออะไร และควรแก้บนอย่างไร ในที่นี้ขอยก 7 ตัวอย่างจากเวบไซต์ดังกล่าวในตารางข้างล่างนี้

ตารางที่ 1 ตัวอย่างสิ่งศักดิ์สิทธ์และการบนบานศาลกล่าว
เรื่องที่บน วิธีบน วิธีแก้บน
พระเจ้าตากสิน
วงเวียนใหญ่
การเรียน การงาน การค้าขาย หนี้สินจากการค้าขาย ใช้ธูป 16 ดอก พวงมาลัยดาวเรือง หรือมะลิและดาวเรือง (หากขอพรให้ใช้ธูป 9 ดอก) ตามคำกล่าว หรือถวายอาหาร
พระตรีมูรติ
ความรัก เทียนแดง 1 เล่ม ธูปแดง 9 ดอก ในช่วง 09.30–21.30 น.
ตามคำกล่าว หรือ
น้ำผลไม้ กุหลาบแดง พวงมาลัยกุหลาบ
รูปปั้นช้าง
พระพรหมเอราวัณ
การงาน การเรียน จุดธูป 12 ดอก ไหว้ทั้ง 4 หน้า ตามคำกล่าว หรือรำแก้บน
วัดหลวงพ่อโสธร
การมีบุตร โชคลาภ จุดธูป 16 ดอก และพวงมาลัย ตามคำกล่าว ถวายละคร หรืออาหาร
ศาลเจ้าพ่อเสือ
การค้าขาย วาสนาบารมี ธูป 18 ดอก ปัก 6 กระถาง เทียนแดง 1 คู่ มาลัย 1 พวง หรือถวายเงินเติมน้ำมันนตะเกียง ตามคำกล่าว
ศาลย่านาค
วัดมหาบุศย์
โชคลาภ ความรัก การเกณฑ์ทหาร จุดธูป 9 ดอก ตามคำกล่าว หรือถวายผ้าถุง พวงมาลัย ของเล่นเด็ก
ศาลหลักเมือง
ความมั่นคงในหน้าที่การงาน ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัวผ้า แพร 3 สี ถวายพวงมาลัย หรือผูกผ้า 3 สี

อย่างไรก็ตาม อโณทัย เขตต์บรรพต กล่าวว่าการขอโดยการบนบานศาลกล่าวไม่ใช่หลักทางพุทธศาสนา โดยให้เหตุผลว่าในพุทธศาสนามีวิธีอื่นที่ทำให้ “สมความปรารถนา” ได้ดีกว่าการ “บน” และกล่าวต่อไปว่านั่นคือ “การอธิษฐาน” อันได้แก่ การขออย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีเนื่องจากมีบุญกุศลเป็นสิ่งรองรับ อโณทัย เขตต์บรรพต เปรียบเทียบการบนบานศาลกล่าวและการอธิษฐานในพุทธศาสนาไว้โดยมีสาระสำคัญดังแสดงในตารางที่ 2 นี้

ตารางที่ 2 การบนบานศาลกล่าวและการอธิษฐานในพุทธศาสนา
คำจำกัดความ สิ่งที่ขอ โอกาส “ได้”
การบนบานศาลกล่าว การขออะไร ที่ใดก็ได้ ขอได้อย่างไม่จำกัด แม้เมื่อมีปัญหาเล็กน้อย เรื่องใดก็ได้ทั้งดีและไม่ดี น้อย เมื่อได้แล้วต้องชดใช้ หรือแก้บน
การอธิษฐานใน
พุทธศาสนา การขออย่างมีหลักการ ศักดิ์ศรีและจุดประสงค์ที่เด่นชัด เมื่อมีความจำเป็นในเวลาวิกฤต เรื่องที่ดี มาก เนื่องจากมีบุญกุศลที่ทำมาแล้วเป็นปัจจัยเกื้อหนุน เมื่อได้แล้วไม่ต้องชดใช้ หรือแก้บน

นอกจากนี้อโณทัย เขตต์บรรพต ยังได้ให้แนวทางการอธิษฐานไว้คือ ตั้งใจเป็นสมาธิหรือมีสติแล้วอธิษฐานว่า “ด้วยบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงที่ข้าพเจ้าได้เคยทำมาแล้วในอดีต กำลังทำในปัจจุบัน และที่จะทำต่อไปในอนาคตขอให้เป็นพลว (อ่านว่า พะ-ละ-วะ) ปัจจัยให้ ... (ให้กล่าวเรื่องที่ต้องการขอ)”
หลังจากบทนี้กล่าวถึงการบนบานศาลกล่าว การแก้บน รวมไปถึงการอธิษฐานในพุทธศาสนาแล้ว ในบทต่อไปข้าพเจ้าจะกล่าวถึงการอธิษฐานในคริสตศาสนาในแง่ที่เป็นการขอสิ่งต่างๆ ตามที่ปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์

No comments: