เขียนเสร็จเมื่อคืนนี้ค่ะ จะไปอัดรายการบ่ายสองวันนี้ ออกอากาศสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน ไม่รู้เหมือนกันว่าวัน เวลา อะไร
The Lost Tense
กาลที่หายไป
24 ส.ค. 2550
1. กาลคืออะไร
กาล (Tense) คือ เครื่องมือทางไวยากรณ์ที่ใช้แสดงเวลาอดีต ปัจจุบัน อนาคต
บางภาษามีกาลเช่นภาษาอังกฤษ สำหรับครูสอนภาษาอังกฤษหรือหนังสือไวยากรณ์ภาษาอังกฤษแล้ว กาลที่ใช้ในการสอนจะมี 12 กาล คือ present simple, present progressive, present perfect, present perfect progressive, past simple, past progressive, past perfect, past perfect progressive, future simple, future progressive, future perfect, future perfect progressive ซึ่งแต่ละกาลจะมีรูปกริยาต่าง ๆ กันไป แต่ทางภาษาศาสตร์จะถือว่าภาษาอังกฤษมี 2 กาลคืออดีตและปัจจุบัน ส่วนอนาคตถือเป็นสิ่งที่เรียกว่าทัศนภาวะ (modality) ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงระดับความแน่ใจของผู้พูดที่มีต่อสิ่งที่พูดออกมาว่าจำเป็นต้องเกิดแน่ ๆ (necessity) หรือ อาจจะเกิด (possibility) ตัวบ่งชี้ทัศนะภาวะมีดังนี้ 1. คำกริยาช่วยที่ใช้บอกทัศนะภาวะ เช่น may, might, can, could 2. คำคุณศัพท์ เช่น possible, probable 3. คำกริยาวิเศษณ์ เช่น possibly, probably และ 4. อนุประโยค เช่น I think …
สำหรับภาษาไทย อย่างที่เราทราบกัน จะเป็นภาษาที่ไม่มีกาล คือรูปกริยาใด ๆ จะใช้บอกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ได้ อย่างไรก็ตามภาษาไทยมีคำทางไวยากรณ์ที่แม้แต่เจ้าของภาษาไทยเองก็อาจคิดว่าเป็นคำซึ่งบอกเวลา หนังสือไวยากรณ์ภาษาไทยโดยทั่วไปมักระบุว่าคำอย่างเช่น ได้ เคย แล้ว เพิ่ง บอกอดีตกาล กำลัง อยู่ บอกปัจจุบันกาล และจะ บอกอนาคต
2. กาลหายไปไหน
ชื่อเรื่องที่ว่า กาลที่หายไป จะหมายความว่า จริง ๆ แล้ว เครื่องมือทางไวยากรณ์ที่ใช้แสดงเวลาทั้งในภาษาที่มีกาลและภาษาที่ไม่มีกาลทั้งหมดเป็นตัวบ่งชี้ทัศนะภาวะ (modality marker) ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกาล (tense) เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องสอนนักเรียนเรื่องการใช้ tense ต่าง ๆ กันแล้ว พูดให้ชัดขึ้นก็คือมี present simple, past simeple, future simple หรืออะไรต่ออะไรที่กล่าวไว้ข้างต้น ในภาษาไทยก็มี ได้ เคย แล้ว เพิ่ง กำลัง อยู่ และจะ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่กาล (tense) คือไม่ได้บอกเวลาอดีต ปัจจุบัน อนาคต แต่เป็นตัวบ่งชี้ทัศนะภาวะ (modality marker) คือบอกความแน่ใจของผู้พูดว่าเหตุการณ์ที่พูดถึงอยู่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ หรือแค่อาจเป็นไปได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า กาล (tense) ไม่ได้หายไปไหนหรอก เพียงแต่ว่ากาลไม่ได้บอกเวลาอดีต ปัจจุบัน อนาคต อย่างที่เราอาจจะเคยเรียนมาตอนเด็ก ๆ แต่บอกความคิดของผู้พูดว่าเหตุการณ์ที่พูดถึงเป็นไปได้หรือไม่
3. ทราบได้อย่างไรว่ากาลไม่ได้บอกอดีต ปัจจุบัน และอนาคต (ดำเนินการวิจัยอย่างไร)
เนื่องจากนักภาษาศาสตร์จะศึกษาข้อมูลที่เป็นการใช้ภาษาจริง ๆ ของเจ้าของภาษาเท่านั้น จึงเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นโดยบันทึกเทปบทสนทนาของนักเรียนปริญญาเอก 4 คนในช่วงเวลาอาหารเย็น โดย 3 คนจะถามอีก 1 คนว่าทำก่อนหน้าวันนั้นทำอะไรบ้าง วันนั้นทำอะไรบ้าง และเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว จะทำอะไรต่อ หลังจากนั้นนำมาถอดเทป เพื่อดูความหมายและความถี่ของคำต่าง ๆ ที่หนังสือไวยากรณ์ภาษาไทยเรียกว่าเป็นคำที่บอกกาลในภาษาไทย คำที่พบคือ ได้ เคย แล้ว มา ไว้ อยู่ จะ และไป อีก 2 คำที่หนังสือไวยากรณ์ภาษาไทยก็ระบุว่าเป็นคำบอกเวลาอดีต และปัจจุบัน คือ เพิ่งและกำลัง ไม่พบในบทสนทนานี้
หนังสือไวยากรณ์ภาษาไทยโดยทั่วไปจะระบุว่า ได้ เคย แล้ว มา ไว้ เป็นคำบอกอดีตกาล อยู่ เป็นคำบอกปัจจุบันกาล และ จะ เป็นคำบอกอนาคตกาล แต่เมื่อพิจารณาการเกิดของคำที่หนังสือไวยากรณ์ภาษาไทยเรียกว่าเป็นคำที่บอกกาลเหล่านี้ จะพบว่าที่จริง คำเหล่านี้ไม่ได้บอกอดีต ปัจจุบัน หรือ อนาคต เหตุผลสำคัญประการแรกคือ แต่ละคำสามารถเกิดในประโยคที่บรรยายเหตุการณ์ที่มีกาลไม่ตรงกับสิ่งที่หนังสือไวยากรณ์ภาษาไทยระบุไว้ด้วย เช่น
(1) ได้อยู่ห้องบิสิเนสคลาสที่ไม่ได้จอง (อดีต)
(2) ยังไม่ได้จองเลย (ปัจจุบัน)
(3) พยายามจะออนไลน์แต่ออนไลน์ไม่ได้ (อดีต)
(4) ตั๋วเปลี่ยนได้หรือ (ปัจจุบัน)
(5) ไปวัดที่เคยบวชหรือเปล่า (อดีต)
(6) เขาจะมีลิสต์ไว้เลยว่าใครเคยทำอะไรมาบ้าง (ปัจจุบัน)
(7) อ้อนับไปแล้ว (อดีต)
(8) มันก็จะมีแค่นี้อยู่แล้ว (ปัจจุบัน)
(9) ร่างเป็นเอสเสก่อนแล้วจะเป็นแชปเตอร์ (อนาคต)
(10) เป็นงานโปรเจคต์ที่ซุปไปรับมาจากข้างนอกแล้วเราทีเอี่ยวด้วย (ปัจจุบัน)
(11) ขอคอลเลจได้ไม่ถึง 100 ปอนด์ เราเก็บไว้เลย เอาไว้ทำโปสเตอร์ (ปัจจุบัน)
(12) คุยกันเรื่องงานที่ยังค้างอยู่ (ปัจจุบัน)
(13) อยู่เหมือนกับเป็นคอมมอนรูม แล้วก็เลยนั่งอยู่ตรงนั้น (อดีต)
(14) ที่บอกว่ายังคิดอยู่ (อดีต)
(15) เดือนหน้าเราจะไม่อยู่ ไปอเมริกา กะว่าจะไปเดนเวอร์ด้วย (อนาคต)
(16) เขาบอกว่าเขากลับเมืองไทย เขาจะไปวัด (อดีต)
(17) เราจะนัดเจอกัน ก็ไม่รู้จะไปที่ไหนดี (อดีต)
(18) ไปอุ่นโจ๊ก ทำกับข้าวให้มันกิน (อดีต)
(19) เดี๋ยวเสร็จแล้ว จะกลับไปทำงานต่อ (อนาคต)
ข้อสรุปจากข้อมูลเบื้องต้นนี้คือคำต่าง ๆ ที่หนังสือไวยากรณ์ภาษาไทยเรียกว่าเป็นคำที่บอกกาลในภาษาไทยไม่น่าจะเป็นตัวบ่งชี้กาล เนื่องจากสามารถเกิดได้ในประโยคที่บรรยายเหตุการณ์ที่มีกาลไม่ตรงเวลาที่หนังสือไวยากรณ์ระบุไว้
ต่อมาเก็บข้อมูลเพิ่ม ทั้งจากบทสนทนา บทความจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และนวนิยาย คือทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน โดยเลือกศึกษา 5 คำโดยละเอียด คือคำว่า ได้ เคย กำลัง อยู่ จะ เนื่องจากเป็นคำที่มีความถี่สูงที่สุดในข้อมูลเบื้องต้น และครอบคลุมเวลาอดีต (ได้ เคย) ปัจจุบัน (กำลัง อยู่) และ อนาคต (จะ) ตามที่หนังสือไวยากรณ์ภาษาไทยระบุไว้ เมื่อศึกษาความหมายของ 5 คำนี้จากตัวอย่างต่าง ๆ ในข้อมูลพบว่า ได้ แสดงทัศนะภาวะแบบบอกความสามารถ (dynamic modality)
(20) เกรมลินได้จับงู (อดีต)
(21) เกรมลินจับงูได้ (อดีต หรือ ปัจจุบัน)
เคย แสดงกาลลักษณะ (aspect) แบบบอกประสบการณ์ (experiential perfect)
(22) เกรมลินเคยจับงู (อดีต)
(23) เกรมลินไม่เคยจับงู (ปัจจุบัน)
กำลัง และ อยู่ แสดงกาลลักษณะ (aspect) แบบกำลังดำเนินอยู่ (progressive)
(24) เกรมลินกำลังจับงูอยู่ (ปัจจุบัน หรือ อดีต)
ส่วน จะ แสดงทัศนะภาวะแบบบอกความเป็นไปได้เชิงความรู้ (epistemic possibility)
(25) เกรมลินจะจับงู (อนาคต หรือ อดีต)
ประโยคตัวอย่างแต่ละประโยคนี้สามารถใช้บรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ได้ แล้วแต่กรณี อีกเหตุผลหนึ่งที่แสดงว่า ได้ เคย กำลัง อยู่ และจะ ไม่ได้บอกเวลา คือ คำเหล่านี้สามารถเกิดร่วมกันได้ในประโยคเดียวกัน แต่เรารู้ว่า กาล (tense) เกิดร่วมกันไม่ได้ ประโยคภาษาอังกฤษแต่ละประโยคมีเพียงกาลเดียวเท่านั้น ตัวอย่างประโยคที่ “คำบอกเวลา” สามารถเกิดร่วมกันได้ เช่น
(26) เกรมลินเคยจับงูได้ (ปัจจุบัน)
(27) เกรมลินกำลังจะจับงู (ปัจจุบัน หรือ อดีต)
(28) เกรมลินจะจับงูได้ (อนาคต หรือ อดีต)
ทฤษฎีที่นำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์นี้คือ อรรถศาสตร์ปริยาย (default semantics) ซึ่งกล่าวว่าประโยคใด ๆ ที่ผู้พูดคนหนึ่ง ๆ สื่อสารออกมาจะมีความหมายโดยปริยาย ซึ่งอาจไม่ใช่ความหมายตามตัวอักษร แต่เป็นความหมายที่ผู้ฟังจะรับรู้ได้ก่อนความหมายอื่นซึ่งเป็นความหมายตามตัวอักษรเสียอีก ตัวอย่างเช่น แม่พูด (29) กับลูกอาย 4 ขวบ ที่ทำมีดบาดนิ้วตัวเอง แล้วร้องไห้ไม่ยอมหยุด แม่ไม่ได้หมายความว่าลูกจะมีชีวิตเป็นอมตะ ไม่ตายตลอดไป ซึ่งนั่นคือความหมายตามตัวอักษร แต่ความหมายโดยปริยายของ (29) คือ (30) แม้คำว่า มีดบาด ไม่ได้กล่าวออกมาแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของความหมายโดยปริยาย
(29) หยุดร้องไห้เถอะ แค่นี้ ไม่ตายหรอก
(30) หยุดร้องไห้เถอะ มีดบาดแค่นี้ ไม่ตายหรอก
เมื่อนำอรรถศาสตร์ปริยายมาอธิบายความหมายของ ได้ เคย กำลัง อยู่ และ จะ จะกล่าวได้ว่า ความหมายโดยปริยายของ ได้ และ เคย คือ อดีตกาล ความหมายโดยปริยายของ กำลัง และ อยู่ คือ ปัจจุบันกาล และ ความหมายโดยปริยายของ จะ คือ อนาคตกาล ทั้งนี้เป็นผลสรุปจากแบบสอบถาม ซึ่งขอให้เจ้าของภาษาไทย 20 คนระบุว่าประโยคต่าง ๆ ซึ่งมีได้ เคย กำลัง อยู่ และ จะ เป็นส่วนประกอบมีความหมายเป็นกาลใด ปรากฏว่าทั้ง 20 คนตอบว่าประโยคซึ่งมี เคย เป็นอดีตกาล ประโยคซึ่งมี กำลัง และ อยู่ เป็นปัจจุบันกาล ประโยคซึ่งมี จะ เป็นอนาคตกาล ส่วน ได้ นั้น 18 คน ตอบว่าเป็นอดีตกาล แต่ 2 คนตอบว่าเป็นปัจจุบันกาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความหมายอ้างอิงเชิงเวลาไม่ใช่ความหมายตามตัวอักษร แต่เป็นความหมายเชิงวัจนะปฏิบัติศาสตร์ (pragmatic)
มาถึงจุดนี้ขอสรุปว่า คำไวยากรณ์ที่หนังสือไวยากรณ์ภาษาไทยระบุว่าเป็นตัวบ่งชี้กาลนั้น ที่จริง ไม่ได้มีกาล คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นส่วนหนึ่งของความหมายตามตัวอักษร แต่ความหมายอ้างอิงเชิงเวลานี้เป็นเพียงความหมายปริยาย ซึ่งบางครั้งอาจไม่เกิดขึ้น นี่คือสาเหตุที่ ยกตัวอย่างเช่น ได้ ซึ่งปกติจะมีความหมายปริยายเป็นอดีต สามารถเกิดในประโยคที่ใช้บรรยายเหตุการณ์ในปัจจุบันได้
งานวิจัยนี้เกี่ยวข้องกับภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาที่ไม่มีกาล เป็นหลัก แต่ก็อ้างด้วยว่าการวิเคราะห์ว่าเครื่องมือทางไวยากรณ์ที่ใช้แสดงเวลา อดีต ปัจจุบัน อนาคต ในภาษาที่มีกาลเช่นภาษาอังกฤษ ว่าเป็นตัวบ่งชี้ทัศนะภาวะ (modality) หรือ สิ่งที่บอกความแน่ใจของผู้พูดว่าเหตุการณ์ที่พูดถึงอยู่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ หรือแค่อาจเป็นไปได้ ก็ทำได้เช่นกัน เมื่อกำหนดว่าทัศนะภาวะ (modality) มีลำดับชั้น ตั้งแต่ เหตุการณ์ที่พูดถึงไม่เกิดขึ้นแน่ ๆ ไปจนถึง อาจเกิดขึ้น และ เกิดขึ้นแน่ ๆ เราอาจกล่าวได้ว่า ตัวอย่างประโยค (31), (32) และ (33) แสดงความแน่ใจของผู้พูดลดหลั่นกันไป คือ (31) แสดงระดับความแน่ใจของผู้พูดสูงที่สุด รองลงมาคือ (32) และสุดท้ายคือ (33)
(31) Mary goes to the opera tomorrow night. (tenseless future)
(32) Mary is going to the opera tomorrow night. (futurative progressive)
(33) Mary will go to the opera tomorrow night. (future will)
ตัวอย่างประโยค (34), (35) และ (36) ก็เช่นกัน คือ (34) แสดงระดับความแน่ใจของผู้พูดสูงที่สุด รองลงมาคือ (35) และสุดท้ายคือ (36)
(34) Tom went to London. (simple past)
(35) Tom would have gone to London. (epistemic necessity past)
(36) Tom may have gone to London. (epistemic possibility past)
สรุปได้ว่า กาลในภาษาอังกฤษ ก็มีลักษณะความเป็นตัวบ่งชี้ทัศนะภาวะ (modality) อยู่เช่นกัน เพราะฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่า กาล (tense) นั้นหายไป ทั้งในภาษาที่มีกาลอย่างภาษาอังกฤษ และภาษาที่ไม่มีกาลอย่างภาษาไทย
4. เหตุที่สนใจทำวิจัยเรื่องนี้
เนื่องจากสอนภาษาอังกฤษมาหลายปีและพบว่าปัญหาสำคัญของนักเรียนไทยคือระบบกาล (tense) ในภาษาอังกฤษ แรกเเริ่มเดิมทีคิดว่าความยากนี้เป็นเพราะภาษาไทยไม่มีกาล แต่ภาษาอังกฤษมีกาล ซึ่งอาจทำให้เจ้าของภาษาไทยและเจ้าของภาษาอังกฤษมีความคิดแตกต่างกันในเรื่องเวลา โดยเจ้าของภาษาไทยอาจจะคิดว่าเวลาไม่มีอดีต ปัจจุบัน อนาคต เพราะภาษาไทยไม่มีเครื่องมือทางไวยากรณ์ที่ใช้ระบุเวลาอดีต ปัจจุบัน อนาคต ในขณะที่เจ้าของภาษาอังกฤษจะคิดว่าอดีต ปัจจุบัน อนาคต จะมีเส้นแบ่งชัดเจน เมื่อจะพูดถึงเหตุการณ์ใดจะต้องใช้กาลกำกับทุกครั้งว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต
แต่เมื่อดำเนินการวิจัยแล้ว พบว่าจริง ๆ แล้ว ดูเหมือนว่า ทั้งเจ้าของภาษาไทยและเจ้าของภาษาอังกฤษน่าจะมีความคิดเกี่ยวกับเวลาไม่แตกต่างกัน โดยไม่ได้คิดว่าเวลา คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต แต่คิดว่ามันคือ ความจำเป็น และ ความเป็นไปได้
5. มีข้อเสนอแนะสำหรับผู้ที่สนใจเรียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างไร
ที่จริงต้องขอเรียนให้ทราบก่อนว่า สิ่งที่นักภาษาศาสตร์ศึกษาไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในเชิงการสอนหรือการเรียนภาษา แต่เป็นไปเพื่อการอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในภาษาใด ๆ เพื่อให้เราสามารถเข้าใจตัวเราเอง ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่มีภาษาใช้ในการสื่อสารที่ซับซ้อนเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้อาจช่วยผู้ที่สนใจเรียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้บ้าง กล่าวคือ ผู้ที่เรียนภาษาไทย โดยเฉพาะที่เป็นเจ้าของภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่มีกาลอื่น ๆ ควรตระหนักว่า คำพวก ได้ เคย กำลัง อยู่ และ จะ ไม่ใช่คำแสดงกาล (tense) ในภาษาไทย และคำกริยาในภาษาไทยไม่ต้องมีคำบ่งชี้กาลกำกับ เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ใช้คำเหล่านี้ฟุ่มเฟือยจนพูดไม่เป็นธรรมชาติในภาษาไทย ถ้าใครเคยได้พูดคุยกับคนอังกฤษหรืออเมริกันที่เพิ่งเริ่มเรียนพูดภาษาไทยได้บ้าง อาจจะเคยสังเกตว่า เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต เขาจะใช้ ได้ กำกับคำกริยาทุกครั้ง ทำให้สิ่งที่เขาพูดฟังดูแปลก ๆ ครั้งหนึ่งเคยโทรศัพท์ไปหาเพื่อนคนไทยที่มีเพื่อนร่วมห้องทำงานเป็นคนอเมริกันในตอนเย็น และได้รับคำตอบจากคนอเมริกันนี้ว่า “เขาได้ปิดไฟในห้องทำงานแล้ว เขาได้กลับบ้านแล้ว” ซึ่งก็ฟังเข้าใจแต่ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติในภาษาไทย
ส่วนเจ้าของภาษาไทยที่เรียนภาษาอังกฤษควรจะตระหนักในทางกลับกันว่า คำกริยาในภาษาอังกฤษต้องมีกาล (tense) กำกับ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือระบบกาลที่ซับซ้อนในภาษาอังกฤษอาจอธิบายให้ง่ายขึ้นได้ โดยใช้แนวคิดที่ว่าจริง ๆ แล้ว ไม่มีอดีต ปัจจุบัน อนาคต แต่เป็นความจำเป็น และ ความเป็นไปได้
เป็นที่น่าสังเกตว่าเครื่องมือทางไวยากรณ์ที่ใช้บอกกาล (tense) ในภาษาอังกฤษอาจมีการใช้ที่ไม่ตรงกับรูป ตัวอย่างเช่นข้อ (37)–(40) ข้างล่างนี้ ข้อ (37) เป็นการใช้รูปอดีตกาลเพื่อถามอย่างสุภาพกับคนแปลกหน้าที่อยู่ในลิฟต์เดียวกันในขณะพูด (เวลาปัจจุบัน) อีกนัยหนึ่งคือ รูปอดีตกาลอาจใช้แสดงทัศนะภาวะในการถามหรือขอร้องอย่างสุภาพหรือลังเล
(37) Which floor did you want?
ในข้อ (38) ปัจจุบันกาลถูกใช้บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดแล้วในอดีต เรียกว่าเป็นปัจจุบันกาลเชิงประวัติ (historical present) ซึ่งน่าจะมีทัศนะภาวะหรือระดับความแน่ใจของผู้พูดสูงเท่า ๆ กับเมื่อใช้รูปอดีตกาล
(38) I’m sitting on the verandah when up comes Joe and says …
ข้อ (39) เป็นการใช้รูปปัจจุบันกาลเพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งแสดงระดับความแน่ใจของผู้พูดสูงที่สุดในบรรดารูปกริยาต่าง ๆ ที่ใช้บอกเล่าเหตุการณ์ในอนาคตได้ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
(39) Mary goes to the opera tomorrow night.
ส่วนในข้อ (40) ‘will’ ซึ่งอาจบอกเวลาอนาคตกลับปรากฏในประโยคที่บอกเวลาปัจจุบัน เป็นตัวอย่างการใช้ ‘will’ เพื่อแสดงทัศนะภาวะชนิดความจำเป็นเชิงความรู้ (epistemic necessity)อย่างชัดเจน โดยผู้พูดมีความแน่ใจสูงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวกำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
(40) Mary will be in the opera now.
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงอยากให้มีการเสนอการสอนเครื่องมือทางไวยากรณ์ที่ใช้บอกกาลแนวใหม่โดยอาจมองว่าสิ่งที่เรียกว่าเป็นเครื่องมือทางไวยากรณ์ที่ใช้บอกกาลนั้นจริง ๆ แล้วไม่ได้บอกกาล คืออดีต ปัจจุบัน อนาคต แต่เป็นตัวบ่งชี้ทัศนะภาวะ (modality) ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจศึกษาต่อไป